ยาฆ่าหญ้า แบบ ดูดซึม เผาไหม้ คืออะไร ต่างกันอย่างไร?

เผาไหม้-ดูดซึม

วัชพืชเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลยับยั้งการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทางการเกษตร โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมใช้การควบคุมวัชพืชด้วยวิธีการทางเคมี (Chemical Control) ซึ่งเป็นวิธีการที่ให้ผลดี และสามารถกำจัดวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว การจำแนกประเภทสารเคมีกำจัดวัชพืชสามารถจำแนกได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับหลักการที่ใช้ หากพิจารณาลักษณะการทำลาย สามารถจำแนกสารเคมีกำจัดวัชพืชออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดดูดซึม และสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้ หรือชนิดสัมผัสตาย

ยาฉีดหญ้าดูดซึม

ยาฆ่าหญ้า ชนิดดูดซึม

สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดดูดซึม (systemic herbicides) เป็นสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่น มีลักษณะการทำลายคือ หลังจากสารกำจัดวัชพืชเข้าสู่ต้นพืชแล้ว จะเคลื่อนที่ไปทั่วต้นพืชโดยไปถึงลำต้นและรากที่อยู่ใต้ดิน ทำให้พืชตายได้ทั่วถึงและไม่มีหน่อของพืชแทงโผล่พ้นดินขึ้นมาใหม่ สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดนี้จะมีผลรุนแรงกับพวกพืชใบกว้าง หรือใบแคบเท่านั้น โดยสารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ สารเคมีกำจัดวัชพืชในกลุ่มไกลโฟเซต ซึ่งกำจัดวัชพืชแบบทำลายได้ทั้งชนิดใบกว้างและใบแคบ แต่กำจัดได้ดีที่สุดกับชนิดใบแคบ มักใช้ในการกำจัดวัชพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน เช่น หญ้าคา แห้วหมู ไมยราบยักษ์ ใช้ฉีดพ่นทางใบ และวัชพืชจะดูดซึมเข้าไปทำลายส่วนต่างๆ อย่างช้าๆ สามารถเห็นผลได้ภายในสัปดาห์ที่ 3 หากต้องการให้ได้ผลดีจะต้องฉีดพ่นวัชพืชที่มี 4-8 ใบ หรือต้นที่แก่เต็มที่ หากฉีดพ่นวัชพืชที่มีอายุน้อยมักจะไม่ได้ผล ซึ่งไกลโฟเซทมีผลตกค้างในดินน้อยมาก เนื่องจากถูกจุลินทรีย์ในดินย่อยสลาย และสารกำจัดวัชพืชกลุ่ม 2,4-ดีโซเดียมซอลท์ จะใช้ฉีดพ่นทางใบโดยเลือกทำลายเฉพาะวัชพืชใบกว้าง และกก เช่น ผักตบชวา ขาเขียด เทียนนา กกขนาก กกทราย หนวดปลาดุก สารเคมีกลุ่ม 2,4-ดีโซเดียมซอลท์ จะสามารถสลายตัวในดินภายใน 1-4 สัปดาห์ นอกจากนี้ตัวอย่างของสารกำจัดวัชพืชชนิดดูดซึมชนิดอื่นๆ ได้แก่ ทูโฟร์ดี ทูโฟร์ไฟฟ์ที เอมซี พีเอ ดาลาพอน เป็นต้น สารกำจัดวัชพืชแบบดูดซึมจะมีความสามารถเข้าสู่พืชได้ช้ากว่าสารกำจัดวัชพืชแบบสัมผัสแล้วตาย ดังนั้นหากมีฝนตกในครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมงหลังจากฉีด จะทำให้ประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืชลดลง แม้ว่าสารกำจัดวัชพืชแบบดูดซึมจะเป็นสารเคมีที่เข้าทางใบของพืชเป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีการรายงานว่าอาจมีผลตกค้างในดินด้วย เช่น การพบการตกค้างในดินของการใช้ดาลาพอนกับหญ้าคา

ยาฉีดหญ้าเผาไหม้

ยาฆ่าหญ้า ชนิดเผาไหม้

สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้ หรือ ชนิดสัมผัสตาย (contact herbicides) สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้มีลักษณะการทำลายโดยจะเข้าสู่พืชทางใบ หรือยอดทั้งในใบแคบและใบกว้าง ไม่มีการเคลื่อนย้ายสู่ส่วนอื่นๆ ของพืช โดยจะกำจัดเฉพาะส่วนของพืชที่มีการสัมผัสกับสารเคมีเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ของพืชที่ไม่ได้รับการสัมผัสก็จะไม่มีผล รวมไปถึงลำต้นใต้ดินก็จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สามารถเกิดการงอกจากดินขึ้นมาใหม่ได้ สารเคมีกำจัดวัชพืชในกลุ่มนี้ ได้แก่สารกำจัดวัชพืชกลุ่มพาราควอต เกษตรกรมักนิยมใช้ในพืชไร่ เป็นสารเคมีเผาไหม้ที่ออกฤทธิ์เร็วมาก ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน มักใช้ในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ซึ่งสามารถใช้ในการกำจัดพืชใบกว้างและใบแคบ โดยจะสลายตัวได้ 25-50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถูกแสงแดดจ้าภายในเวลา 3 สัปดาห์ ในการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้ในพืชปลูก จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้สารเคมีไปสัมผัสถูกยอดหรือใบของพืชที่ปลูก อาจใช้ตาข่ายกั้นเพื่อป้องกันละอองที่ปลิวไปพร้อมกับกระแสอากาศซึ่งจะไปสัมผัสโดนพืชที่ปลูกได้ โดยส่วนของพืชซึ่งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือมีเปลือกที่มีเซลล์ตายห่อหุ้ม เช่น ต้นไม้ใหญ่ จะไม่เป็นอันตรายต่อสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้  และสารกำจัดวัชพืชชนิดนี้ยังสามารถออกฤทธิ์ทำลายวัชพืชได้ดีแม้จะมีฝนตกหลักจากฉีดพ่น  อีกทั้งการออกฤทธิ์ทำลายจะแสดงผลเร็วภายใน 2-3 ชั่วโมงก็จะสามารถทราบได้ว่าสามารถกำจัดวัชพืชที่ต้องการได้หรือไม่ และจะแสดงความสามารถในการทำลายอย่างเต็มที่ใน 2-3 วันหลังจากฉีดพ่น

ยาฆ่าหญ้า-เผาไหม้-ดูดซึม

ยาฉีดหญ้าเผาไหม้ ผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดดูดซึมและชนิดเผาไหม้จะมีความสามารถในการกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นศัตรูต่อการทำเกษตรกรรมได้ดี และช่วยเพิ่มผลผลิตได้ แต่ยังส่งผลในการทำลายคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ด้วย ปัจจุบันพบว่ามีการห้ามใช้พาราควอตซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้ อย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป เนื่องจากพบว่าพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีพิษมากที่สุดและสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency: EPA) ได้ออกคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดไกลโฟเซทซึ่งคือสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดดูดซึมเป็นเวลา 12 ชั่วโมงภายหลังการฉีดพ่น  และในบางประเทศ เช่น โปรตุเกส อิตาลี และแคนาดา ได้ออกกฎห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะอีกด้วย

Adiruj Mahaniyom
ผู้เขียนบทความ
แบ่งปันบทความ