ยาฆ่าหญ้า แบบ ก่อนปลูก, ก่อนงอก, หลังงอก

สารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicide หรือ Weedicide) หรือที่เรียกทั่วไปว่า “ยาฆ่าหญ้า” เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ฆ่าพืชที่ไม่ต้องการ หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่วัชพืชงอกขึ้นมาแล้ว หรือยังเป็นเมล็ดอยู่ รวมไปถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ของวัชพืชที่ขยายพันธุ์ได้ที่อยู่ในดิน หรืออยู่บนดิน ในการผลิตสินค้าทางการเกษตรจำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตพอเพียงกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก สารเคมีกำจัดวัชพืชนั้นจึงมีความสำคัญต่อเกษตรกรรมเพื่อตัวควบคุมวัชพืช อีกทั้งสารเคมีกำจัดวัชพืชยังมีการใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

ปัจจุบันสารกำจัดวัชพืชมีหลายชนิด ในการเลือกสารกำจัดวัชพืชนั้นขึ้นอยู่กับความเฉพาะเจาะจงตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ ซึ่งหากแบ่งกลุ่มของสารเคมีกำจัดวัชพืชตามลักษณะการใช้งานสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

ยาฆ่าหญ้า ประเภทก่อนปลูก

สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูกหรือล้างแปลง (Pre-Planting) : เป็นสารเคมีที่ใช้พ่นก่อนการเตรียมดิน เพื่อกำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่ก่อน แล้วจึงไถเตรียมดิน หรือใช้พ่นเพื่อฆ่าวัชพืชแทนการเตรียมดินแล้วปลูกพืช โดยสารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ ไกลโฟเซท (Glyphosate), พาราควอท (Paraquat) หรือที่รู้จักในชื่อ กรัมม็อกโซน (Gramoxone), อะทราซีน (Atrazine) หรืออะมีทรีน (Ametryn) เป็นต้น ซึ่งออกฤทธิ์โดยการดูดซึมเข้าสู่วัชพืชเพื่อใช้ป้องกันการขึ้นของหญ้า

ยาฆ่าหญ้า ประเภทก่อนงอก

สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก (Pre-Emergence) : ส่วนใหญ่เกษตรกรมักเรียก “ยาคุมหญ้า” เป็นสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นหลังปลูกพืช และก่อนที่วัชพืชจะงอกในช่วงเวลาประมาณไม่เกิน 10 วัน เป็นการฉีดพ่นลงไปในผิวดินโดยตรง สารเคมีพวกนี้จะเข้าไปทำลายวัชพืชทางส่วนของเมล็ด ราก และยอดอ่อนใต้ดิน โดยต้องฉีดพ่นในสภาพที่ดินมีความชื้นเหมาะสม สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ บิวทาคลอร์ (Butachlor), เพรทิลาคลอร์ (Pretilachlor) หรือ อ็อกซาไดอะซอน (Oxadiazon) เป็นต้น ซึ่งสารกำจัดวัชพืชประเภทนี้จะใช้กำจัดวัชพืชประเภทใบแคบ คือพืชที่มีใบลักษณะยาว เส้นใบขนาน ลำต้นกลม ข้อ ปล้อง ชัดเจน เป็นพวกพืชในวงศ์หญ้า เช่น หญ้าปากควาย หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าตีนนก หญ้าขจรจบ เป็นต้น และวัชพืชประเภทใบกว้างซึ่งใบจะมีลักษณะกว้างกว่าใบแคบ ใบมีหลายรูปแบบ เส้นใบจะเป็นร่างแห เช่น ผักเบี้ย ผักโขมหนาม ผักเสี้ยนผี สาบเสือ ไมยราบ เป็นต้น

ยาฆ่าหญ้า ประเภทหลังงอก

สารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก (Post-Emergence) : ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเรียกว่า ยาฆ่าหญ้า เป็นสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นหลังจากวัชพืชงอกขึ้นมาแล้วในช่วงเวลาเกินกว่า 10 วันขึ้นไป โดยพยายามฉีดพ่นให้สัมผัสส่วนของวัชพืชให้มากที่สุด สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ กลุ่มยา 2,4-ดีโซเดียมซอลท์ (2,4-D sodium salt) หรือที่รู้กันในชื่อ ยาช้างแดง, ยาโปรปานิล (Propanil) ฟิโนซาพรอบ-พี-เอทิล (Fenoxaprop-P-ethyl) ซึ่งเกษตรกรมักใช้ฆ่าหญ้าเพื่อไม่ให้หญ้างอกเร็วเกินไป

ยาฆ่าหญ้าหรือสารกำจัดวัชพืช มีข้อดี คือ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่ดีในการควบคุมวัชพืช  แต่สารกำจัดวัชพืชนั้นเป็นสารเคมีที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ควบคุมวัชพืช ดังนั้นย่อมเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ และมนุษย์ เช่น สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูกหรือล้างแปลง สามารถยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ (Cellular Respiration) ในเซลล์พืชและสัตว์ สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอกอาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นลม และลมหายใจอ่อนแก่เกษตรกรผู้ใช้ยาฆ่าหญ้าได้ หรือในสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกหากสัมผัสถูกบาดแผลจะทำลายชั้นเนื้อเยื่อแบบต่อเนื่องไม่หยุด หรือก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก ปวดท้อง หรือท้องเสีย เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารเคมี วิธีการใช้ และตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของการใช้สารกำจัดวัชพืช

Adiruj Mahaniyom
ผู้เขียนบทความ
แบ่งปันบทความ