ไกลโฟเซต ตกค้างในดิน ผลกระทบอาจมากกว่าที่คิด !!
ไกลโฟเซต เป็นอีกหนึ่งสารกำจัดวัชพืชยอดฮิตในไทย โดยจะออกฤทธิ์กับวัชพืชในช่วงกำลังเจริญเติบโต (post emergence) ไม่สามารถใช้เป็นสารควบคุมก่อนงอกของพืชได้ กลไกที่ออกฤทธิ์ คือ คอยยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์กรดอะมิโนจำพวกอะโรมาติกที่สำคัญของพืช 3 ชนิด คือ ไทโรซีน ทริปโตเฟน และ ฟีนิลอะลานีน หากใช้ไกลโฟเซต..!! จะเกิดอะไรกับดินที่เราใช้ในการเพาะปลูก ? สารไกลโฟเซต อาจตกค้างในดินมากกว่า 1 ปี ในดินเหนียวซึ่งจะมีสารอินทรียวัตถุมากและจะถูกชะล้างได้เร็วในดินทราย ดินที่มีสารไกลโฟเซตตกค้างอยู่ อาจส่งผลต่อการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารตัวอย่างเช่น ไส้เดือนดิน แมลงที่เป็นประโยชน์ต่อพืชนั้นตายลงได้ และสารนี้ยังส่งผลกระทบต่อผักที่ปลูกในดินที่มีสารไกลโฟเซตตกค้างอยู่ ผลกระทบ อาจไม่จบ แค่ดินเสีย ..!! การตกค้างของ ไกลโฟเซต ในสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสารปนเปื้นชนิดนี้เข้าไปสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น โดยที่สารไกลโฟเซตมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดพึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 5-13 เท่า นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบว่า ไกลโฟเซทสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ และทำให้เซลล์รกได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ผ่านการสัมผัส หรือการดูดซึมอาหารของร่างกาย งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าแม้เป็นการตกค้างเพียงเล็กน้อยของสารไกลโฟเซตก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ก่อให้เกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม(ทำลายยีนและโครโมโซม)โดยจะไปรบกวนการทำงานของยีนที่ควบคุมการสร้างเอสโตรเจน และยังออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางอีกด้วย