กรัมม็อกโซน หรือ พาราควอท (Paraquat) จัดอยู่ในกลุ่มชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชชนิดสารป้องกันกำจัดวัชพืช โดยปกติสารเคมีกำจัดวัชพืชสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ พวกที่มีพิษแบบไม่เลือกทำลาย (Non-selective herbicide) คือ สามารถออกฤทธิ์ทำลายวัชพืชใบแคบและใบกว้างได้ กับพวกที่มีพิษเฉพาะกลุ่มวัชพืชหรือเลือกทำลาย (Selective herbicide) คือทำลายเฉพาะวัชพืชชิดใบกว้างหรือวัชพืชชนิดใบแคบ โดยกรัมม็อกโซนจัดอยู่ในกลุ่มของสารกำจัดวัชพืชที่มีพิษแบบไม่เลือกทำลาย
ประวัติของกรัมม็อกโซน
พาราควอตถูกผลิตขึ้นมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2425 นำมาใช้ในครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505 ภายใต้ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักว่า กรัมม็อกโซน ไตรควอต หรือ เดกซ์ซูรอน โดยกรัมม็อกโซนเป็นสารเคมีที่ขึ้นชื่อว่าสามารถกำจัดวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ที่สุดในโลก เนื่องจากราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณมาก แต่เห็นผลในการปราบวัชพืชให้ตายเรียบ ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูง และต้นทุนที่ต่ำจึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้กรัมม็อกโซนอย่างกว้างขวาง โดยในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยนำเข้ากรัมม็อกโซนถึง 44,501 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,816 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในประเทศไทย
กรัมม็อกโซนทำงานยังไง
กรัมม็อกโซนจะออกฤทธิ์โดยการดูดซึมทางใบอย่างไม่จำเพาะชนิดของวัชพืช มีผลทำลายเนื้อเยื่อพืชโดยรบกวนการสังเคราะห์แสงของใบไม้ และเยื่อหุ้มเชลล์ เมื่อฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นใบเขียวจะทำให้เกิดใบแห้งอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง โดยกลไกการทำงานของกรัมม็อกโซนจะกำจัดเฉพาะศัตรูพืชเท่านั้นไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากและโคนต้น เกษตรกรไทยนิยมใช้กรัมม็อกโซนในการกำจัดวัชพืชในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น
ประโยชน์ของกรัมม็อกโซน
1. ใช้ในการกำจัดวัชพืชชนิดใบแคบ เช่น หญ้าตีนติด หญ้าปากควาย หญ้าตีนนก และหญ้านกสีชมพู
2. ใช้ในการกำจัดวัชพืชชนิดใบกว้าง เช่น ผักเบี้ยหิน ผักโขม ถั่วลิสงนา เซ่งใบมน และปอวัชพืช
3. สามารถใช้กำจัดวัชพืชที่สูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร
วิธีการนำกรัมม็อกโซนไปใช้
โดยทั่วไปแล้วการใช้งานกรัมม็อกโซนสำหรับการฉีดพ่นบนพื้นที่ 1 งาน อัตราการใช้งาน คือ 100 – 125 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำ 15 – 20 ลิตร และสำหรับการฉีดพ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ อัตราการใช้งาน คือ 400 – 500 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำ 60 – 80 ลิตร แต่ควรมีการศึกษาข้อมูลก่อนการใช้งานเนื่องจากวิธีการใช้นั้นขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ และชนิดยี่ห้อการค้า เกษตรกรจึงควรศึกษาฉลากข้างขวดก่อนการใช้งาน
อันตราย และ ข้อควรระวังจากการใช้กรัมม็อกโซน
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่ากรัมม็อกโซนเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงปริมาณที่ทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิตได้อยู่ที่ 4 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. หากได้รับสารทางปากจะเกิดอาการแสบร้อน เกิดแผลในหลอดลม และในระบบทางเดินอาหารสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัส สูดดม ปนเปื้อนในอาหาร และยังก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม และเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ ยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์การเกษตร ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้สัมผัสโดยตรงจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน
โดยในกลุ่มเกษตรกรอาจได้รับความอันตรายจากกรัมม็อกโซนมาจากพฤติกรรม เช่น การใช้งาน การผลิต บรรจุ ขนส่ง และจำหน่าย เมื่อร่างกายได้รับกรัมม็อกโซนอาจมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนไปถึงขั้นรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ โดยแยกเป็นพิษแบบเฉียบพลัน และพิษเรื้อรัง อาการเฉียบพลันที่มักพบ คือ อาจเกิดแผลในปาก เจ็บคอ อาเจียน ปวดท้อง แสบร้อนในช่องอก ระยะที่อาจเกิดต่อมาคือ อาการทางระบบปัสสาวะที่ปัสสาวะน้อยหรือขัด ไตวาย ตับอักเสบ หอบ เหนื่อย จนระบบอวัยวะภายในไม่ทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด ถ้าโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดบาดแผลผุพอง แสบร้อน ไหม้ ดังนั้นหากจำเป็นที่ต้องใช้งานก็ควรใช้งานอย่างระมัดระวังเป็นที่สุด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรัมม็อกโซน
ปัจจุบันกว่า 50 ประเทศมีการสั่งห้ามใช้กรัมม็อกโซนและมี 17 ประเทศ จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยจากรายงานการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร พ.ศ. 2562 ประเทศไทยได้นำเข้ากรัมม็อกโซนกว่า 9,900 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 790 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 44 เนื่องจากถูกจำกัดการนำเข้า ด้านนักวิชาการและตัวแทนภาคประชาชนทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้ยกเลิกการใช้และระงับการนำเข้ากรัมม็อกโซน เนื่องจากเห็นความสำคัญถึงอันตรายที่เกิดจากการใช้สารชนิดนี้ ทำให้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ยกเลิกวัตถุอันตรายโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ก่อนหน้านี้มีการรณรงค์จากภาคประชาชนให้สั่งแบนกรัมม็อกโซน แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่แบนกรัมม็อกโซน เนื่องจากเกรงว่าหากแบนกรัมม็อกโซนในตอนนี้ เกษตรกรกว่า 25 ล้านคนอาจหันไปใช้สารเคมีชนิดอื่นที่รุนแรงขึ้น และมีการเผาซากพืชมากขึ้น เพราะไม่สามารถใช้ยาปราบศัตรูพืชได้ จึงส่งผลกระทบหลายด้าน แต่แล้วในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็ได้มีมติให้ปรับ กรัมม็อกโซน จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ วัตถุอันตรายที่มีความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงสูงทั้งจากคุณสมบัติของตัวสารเองหรือจากลักษณะการใช้ เช่น สารก่อมะเร็ง สารก่อกลายพันธุ์ สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ หรือสารที่ห้ามใช้โดยอนุสัญญา กฎหมายจึงห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพบว่าหากแบนวัตถุอันตรายทันทีจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การจัดการสารพิษตกค้าง และผลกระทบที่เกิดต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากมีสารตกค้างอยู่ในผลผลิต ทำให้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้มีมติให้เลื่อนการปรับระดับการควบคุมสารกรัมม็อกโซนให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จากวันที่ 1 ธันวาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ยี่ห้อ/ราคา จำหน่ายในไทย
– พาราควอต (กรัมม็อกโซน) ถูกแบนในไทยแล้ว –
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) ปี พ.ศ. 2563 วันที่ 15 พ.ค. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 19 พ.ค. 2563 มีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4
บทความที่เกียวข้อง
No posts