การทำเกษตรกรรมการกำจัดวัชพืชคิดเป็น 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิต หากไม่กำจัดหรือกำจัดล่าช้าส่งผลให้ผลผลิตเกิดความเสียหายได้ วัชพืชยังเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชหลายชนิด สารเคมีกำจัดวัชพืชจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำเกษตรกรรมเนื่องจากให้ผลในการกำจัดวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ซึ่งสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้ หรือชนิดสัมผัสตาย (contact herbicides) เป็นสารเคมีในการกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ สารเคมีประเภทนี้เมื่อสัมผัสกับส่วนของพืชจะทำอันตรายต่อเซลล์บริเวณที่สัมผัส และจะไม่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ปกติสารพวกนี้จะทำลายเซลล์พืชอย่างรวดเร็ว เหมาะที่จะใช้กับวัชพืชล้มลุก ถ้าใช้กับพวกที่มีเง่าหรือวัชพืชถาวรจะไม่ได้ผล สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดสัมผัสตาย สามารถจำแนกตามขอบเขตของวัชพืชที่ถูกควบคุมโดยจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สารกำจัดวัชพืชประเภทเลือกทำลาย (Selective) และสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย (non-selective) ตัวอย่างของสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดสัมผัสตาย ได้แก่ oils, D N B P (sinox PE), solan เป็นต้น
สารกำจัดวัชพืช แบบเลือกทำลาย
สารกำจัดวัชพืชประเภทเลือกทำลาย (selective herbicide) เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีคุณสมบัติในการทำลายวัชพืชบางชนิด แต่จะไม่ทำลายวัชพืช หรือพืชปลูกบางชนิด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสารกำจัดวัชพืชประเภทเลือกทำลายนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สารกำจัดวัชพืชประเภทเลือกทำลายใบแคบ และสารกำจัดวัชพืชประเภทเลือกทำลายใบกว้าง ตัวอย่างของสารกำจัดวัชพืชพวกนี้ได้แก่ clomazone, atrazine, Fenoxaprop-p-ethyl หรือ Lactofen เป็นต้น
สารกำจัดวัชพืช แบบไม่เลือกทำลาย
สารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย (non selective herbicide) เป็นสารเคมีที่คุณสมบัติในการทำลายวัชพืชหลายชนิด หรืออาจกล่าวได้ว่าทำลาย และควบคุมวัชพืชทุกชนิด ทั้งวัชพืชใบแคบและใบกว้าง สารเคมีประเภทนี้ถูกนำมาใช้ในสภาพที่ไม่มีการเพาะปลูกพืช เช่น ริมถนน และการใช้ก่อนปลูกพืช (pre-planting) การใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลายในพืชปลูกนั้นสามารถกระทำได้ถ้าหากปลูกพืชยืนต้นที่มีขนาดโตแล้ว จะมีการพ่นโดยที่ไม่ให้ละอองสารเคมีปลิวไปสัมผัสกับพืชยืนต้น หรือในพืชปลูกล้มลุกอาจพ่นโดยใช้แผงกั้นโดยใช้หัวพ่นที่มีขนาดรูเล็ก ชนิดของสารกำจัดวัชพืชพวกนี้ได้แก่ glyphosate, paraquat, และ glufosinate-ammonium
การเลือกใช้ เลือกแบบไหนดี?
การเลือกหรือไม่เลือกทำลายของสารกำจัดวัชพืชนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ประการแรก คือ ความแตกต่างในทางสัณฐานหรือโครงร่างของวัชพืช ในพืชพวกใบเลี้ยงเดี่ยวบริเวณที่เป็นส่วนที่มีการแบ่งเซลล์และเป็นเซลล์ที่มีอายุน้อยนั้นจะถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยกาบใบหรือส่วนของใบ ส่งผลให้เกิดการสัมผัสกับสารเคมีย่อมมีน้อยกว่าพวกที่ไม่มีอะไรปกปิดเช่นในพืชพวกใบเลี้ยงคู่ ซึ่งไม่มีอะไรปกปิดในส่วนที่มีการแบ่งเซลล์ พืชพวกนี้จะมีโอกาสสัมผัสหรือดูดซึมเอาสารเคมีได้มาก อีกทั้งพืชที่มีรากลึกจะทนต่อสารเคมีได้มากกว่าพืชที่มีรากตื้น เพราะพืชรากตื้นมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีได้มากกว่าพืชที่มีรากลึกลงไปในดิน นอกจากนี้ส่วนที่คลุมอยู่ตามผิวด้านนอกของพืช เช่น ขน ขี้ผึ้ง จะทำให้พืชมีโอกาสดูดซึมเอาสารเคมีได้น้อยลง ประการที่สอง ความแตกต่างในการดูดซึมของสารเคมีเข้าไปในพืช พืชบางชนิดดูดซึมสารเคมีช้า บางชนิดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากคุณสมบัติของสารด้วย ประการที่สาม ความแตกต่างในการเคลื่อนย้ายของสารเคมี สารเคมีบางอย่างสามารถเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ทั่วทั้งต้น แต่บางอย่างเมื่อเข้าไปในพืชแล้วมักจะไปสะสมอยู่ในบางส่วนของพืช ซึ่งสารเคมีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ได้มากจะช่วยในการออกฤทธิ์ทำลายได้ดีขึ้นด้วย และประการที่สี่ คือ ความแตกต่างในทางสรีระของพืช ซึ่งเอนไซม์ (enzyme) ของพืชบางชนิดสามารถทำลายโมเลกุลของสารเคมีได้ เช่น เอนไซม์ในต้นข้าวโพดจะทำให้โมเลกุลของซิมาซีน (simazine) ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งให้แตกสลายได้ นอกจากนี้การกระบวนการเผาผลาญ (metabolism) เช่น ขบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ขบวนการหายใจ รวมไปถึงส่วนประกอบทางเคมีก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกทำลายของสารเคมี
ข้อควรระวังในการใช้งาน
แม้ว่าการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำเกษตรกรรม เพื่อใช้ในการป้องกันและกำจัดวัชพืช แต่ปัญหาที่อาจเกิดตามมาคือ การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งก่อให้เกิดการตกค้างของสารพิษในดินได้ เมื่อสารเคมีเคลื่อนย้ายออกจากดินย่อมแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม เกิดผลกระทบได้ในวงกว้างกว้าง และจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่โซ่อาหารของทั้งสัตว์และมนุษย์ ดังนั้นการศึกษาวิธีการใช้ การเลือกชนิด และปริมาณของสารกำจัดวัชพืชที่ต้องการใช้ให้เหมาะสมนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช การลดต้นทุน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม